ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยเด็ก 3 ขวบปีแรก


MSU-MED

แผนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้รายวิชา

สถาบัน : คณะแพทยศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หลักสูตร : ประกาศนียบัตร(ระยะสั้น) ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับคลังหน่วยกิต
ชุดวิชา : พัฒนาศักยภาพครู/ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย อายุ 3 เดือน ถึง 3 ปี
ชื่อรายวิชา : สุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยเด็ก 3 ขวบปีแรก (Health, Security & Safety Promotion in the First Three Years)

เกี่ยวกับรายวิชา (Course Description)

ในการเลี้ยงดูเด็ก การสร้างเสริม สุขภาพ (Good Health) และความมั่นคงปลอดภัย (Security & Safety) เป็น 2 เรื่องสำคัญแบบ “ถ้าไม่ผ่านไปต่อไม่ได้” และถูกบรรจุอยู่ในกรอบการเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็ก (The Nurturing Care Framework) ที่องค์การอนามัยโลก เพิ่งประกาศเชิญชวนเมื่อ พศ. 2561 ให้ประเทศทั่วโลก ช่วยกันนำไปใช้เพื่อให้ขบวนการเลี้ยงดูเด็กมีการเอาใจใส่รอบด้าน ซึ่งจะส่งผลเกิดต้นทุนทักษะความสามารถของเด็กในการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ นำสู่อุปนิสัย/คุณลักษณะ พร้อมใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 (โลกใบใหม่)

รายวิชาแบ่งเป็น 5 ตอน 12 บท ใน 3 ตอนแรกจะเป็นเรื่องพื้นฐานในการส่งเสริมสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย ตอนที่ 4 เป็นเรื่องการเฝ้าระวังปัญหา และตอนที่ 5 การป้องกันอุบัติภัย อุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล ผู้เข้าเรียนจะเข้าใจ ความสำคัญของการต้องเอาใจใส่การเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ให้มากๆในยุคนี้ การต้องเริ่มดูแลกันตั้งแต่ในท้อง การเจริญเติบโตพัฒนาการ การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง (Brain Based Learning) และการเล่น (Play) การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพจำเป็นสู่สุขภาพดีและความมั่นคงปลอดภัย : กิน นอน ขับถ่าย ความกังวลการแยกจาก (Separation Anxiety) รวมทั้งเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การรู้ทัน ปัญหาพัฒนาการ/พฤติกรรม/ความพิการ ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย โอกาสการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย การป้องกันและการปฐมพยาบาล

ขบวนการเรียนรู้ เน้นการสร้างความเข้าใจในแก่นของหลักการ (Insight) ผ่านการบรรยาย และคลิวีดิโอประกอบ พร้อมบทฝึกทดสอบ สามารถทบทวนดูซ้ำ เพื่อการตกผลึกทางความคิด นำไปขมวดบูรณาการปรับปรุงขบวนการเลี้ยงดูเด็กทั้งในครอบครัวและในในสถานพัฒนาเด็กตามบริบทของพื้นที่ เพื่อนำสู่ต้นทุนการพัฒนาทักษะความสามารถต่างๆ ที่จะต่อยอดไปถึงการสร้างคนที่มีคุณลักษณะแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป

ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes)

    LO1 : ผู้เรียนสามารถเข้าใจ (Understand) ความจำเป็นในการพัฒนาเด็กเพื่อให้พร้อมอยู่ในโลกใบใหม่(ศตวรรษที่ 21) ความสำคัญของสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย ถ้าไม่เกิดไปต่อไม่ได้ สถานการณ์สุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยที่เป็นผลจากการเลี้ยงดูในอดีต แนวทางการเลี้ยงดูเด็กให้มีพื้นฐานสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยที่ดี การเฝ้าระวังความผิดปกติ และการส่งเสริมความปลอดภัยและการปฐมพยาบาล
    LO2 : ผู้เรียนสามารถใช้ (Use) บูรณาการการจัดกิจกรรมประจำวันในสถานพัฒนาเด็กเพื่อ ส่งเสริมสุขภาพเด็กและความมั่นคงปลอดภัย เช่น การให้อาหาร การเลี้ยงดูกระตุ้นสื่อสัมผัส การจัดระบบ การกิน การนอน การแยกจาก การเล่น และการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการทำกิจกรรม ครูพี่เลี้ยงตระหนักถึงการช่วยให้เด็กมีทักษะทำอะไรได้เองตามวัย สอดคล้องพัฒนาการ อารมณ์ และมีความปลอดภัย
    LO3 : ผู้เรียนสามารถมีนวัตกรรม (create) การปรับปรุงสถานที่ สิ่งแวดล้อม กิจกรรมรายวัน ที่จะส่งเสริมสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย เช่นการจัดพื้นที่เล่น ทั้งในอาคารและนอกอาคาร การจัดกิจกรรมให้เด็กมีส่วนร่วม เช่นการปลูกผัก ทำอาหาร การใช้สื่อธรรมชาติบูรณาการกับเทคโนโลยี่ เพื่อให้กิจกรรมน่าสนใจเด็กอยากทำ ภายใต้กรอบมาตรฐานการดูแล
    LO4 : ผู้เรียนสามารถเข้าถึง (Access) แหล่งข้อมูล ที่ใช้เรียนรู้ประกอบ เช่น สื่อทาง social media (website/ you tube /video clip/ toddler educational software) หนังสือ แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและทั่วไป ที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างความเข้าใจ การพัฒนาทักษะของตนเองในการเลี้ยงดูแลเด็กเล็กด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย

หัวข้อการเรียนรู้ (Course Outline)

    บทที่ 1 สุขภาพ และความมั่นคงปลอดภัย หัวใจ ต้นทุนเด็กพร้อมอยู่ในโลกใบใหม่
    บทที่ 2 ต้องเริ่มแต่ในท้อง ต่อด้วยความเข้าใจแนวทางการเลี้ยงดู
    บทที่ 3 การเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายใน 3 ขวบปีแรก
    บทที่ 4 ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการผ่านประสาทสัมผัส 6 ด้าน (receptive organs) และการเล่น
    บทที่ 5 พฤติกรรมสุขภาพต้องรู้ทัน : กิน นอน ขับถ่าย การแยกจาก
    บทที่ 6 สุขภาพฟัน
    บทที่ 7 การเฝ้าระวัง : พัฒนาการ DSPM
    บทที่ 8 การเฝ้าระวัง : ปัญหา พฤติกรรม และความพิการแต่กำเนิด
    บทที่ 9 การดูแลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
    บทที่ 10 สมุดสีชมพู
    บทที่ 11 อุบัติภัย อุบัติเหตุ และความปลอดภัย: เฝ้าระวัง แต่เติบโต
    บทที่ 12 การปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)

คุณสมบัติผู้เรียน

รายวิชานี้เหมาะสำหรับครู อาจารย์ ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยและผู้ที่สนใจในการให้การดูแลทารกและเด็กเล็กด้านสุขภาพ พัฒนาการ และการป้องกันอุบัติภัยจากขบวนการเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็ก

เกณฑ์การวัดและประเมินผล

    การประเมินผลระหว่างเรียน (Formative Assessment) วัดจากการทำแบบทดสอบหลังเรียนประจำบท
    การประเมินผลหลังสิ้นสุดการเรียนการสอน (Summative Assessment) วัดจากการทำแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
    การตัดสินให้ผ่าน (Pass) และการให้ประกาศนียบัตร (Certificate) เมื่อผู้เรียนได้คะแนนรวมทั้งหมด ตั้งแต่ร้อยละ 65 ขึ้นไป
    การเข้าเรียนและทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้ครบทุกโมดูลการเรียนรู้

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

    การตัดสินให้ผ่าน (Pass) และการให้ประกาศนียบัตรแสดงการเข้าเรียนรายวิชา (Certificate of Completion) เมื่อเรียนรู้เนื้อหารายวิชาโดยการดูคลิปวิดีโอ ทำแบบฝึกหัด และ/หรือ อ่านเอกสารศึกษาด้วยตนเอง ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ของเนื้อหาทั้งหมด
    การให้ประกาศนียบัตรแสดงการสำเร็จการเรียนรายวิชา (Certificate of Achievement) + 1 หน่วยกิต เมื่อเรียนรู้เนื้อหารายวิชาโดยการดูคลิปวิดีโอ ทำแบบฝึกหัด และ/หรือ อ่านเอกสารศึกษาด้วยตนเอง ไม่น้อยกว่า 80% ของเนื้อหาทั้งหมด และสอบข้อสอบที่จัดให้ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 65 ขึ้นไป

จำนวนหน่วยกิต

1 หน่วยกิต

จำนวนชั่วโมงการเรียนรู้

    จำนวนชั่วโมงเรียนทั้งหมด : 15 ชั่วโมงการเรียนรู้
    เวลาเรียนโดยประมาณ : 5 สัปดาห์ (3 ชั่วโมง/สัปดาห์)
    จำนวนชั่วโมงการเรียนรู้จากสื่อวิดีทัศน์ : 5 ชั่วโมง

ผู้รับผิดชอบรายวิชา

    อาจารย์ นายแพทย์บวร แสนสุโพธิ์
    ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    ศาสตราจารย์คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร
    ที่ปรึกษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
    ที่ปรึกษา คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
    แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์
    กุมารแพทย์ กุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
Enroll